วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555


ประเพณีการกินขันโตก


1) ประวัติความเป็นมาและความสำคัญ
ประเพณีการกินขันโตก เป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาวเหนือ หรือชาวล้านนาไทย ที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ขันโตก หรือโตกเป็นภาษาดั้งเดิมที่ชาวล้านนาไทยใช้เรียกภาชนะที่ใช้สำหรับใส่อาหาร มีลักษณะคล้ายถาดทำด้วยไม้สัก มีขาสูง รูปร่างคล้ายตะลุ่มของพระภิกษุทางภาคกลางเมื่อสมัย 50 ปีมาแล้ว ประชาชนทั่ว ๆ ไปจะไม่ใช้ขันโตก เพราะการกินขันโตกต้องมีอาหารหลาย ๆ อย่างตักใส่ถ้วย วางในขันโตกจนเต็มซึ่งอาจจะเกินฐานะกำลังของบางครอบครัวที่มีฐานะยากจน แต่เมื่อ มีงานเลี้ยงจึงจะจัดขันโตกกันสักครั้งหนึ่ง จนประเพณีการกินขันโตกเกือบสูญหายไป ครั้นเมื่อปี พ.. 2496 นายไกรศรี นิมมานเหมินทร์ นายธนาคารและนักธุรกิจใหญ่ของภาคเหนือ ได้รื้อฟื้นนำมาใช้ในงานเลี้ยงส่งนายสัญญา ธรรมศักดิ์และมร.จอร์ช วิดนี ขึ้นอีก จนชาวล้านนาไทย และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ยอมรับว่า การเลี้ยงขันโตก เป็นวัฒนธรรมประเพณีอย่างหนึ่งของชาวล้านนาไทย ที่นิยมจัดเลี้ยงรับรองแขกเมืองหรือ ผู้ที่ไปเยือน ในการเลี้ยงขันโตกครั้งแรก ๆ นายไกรศรี นิมมานเหมินทร์ ได้แนะนำให้ผู้ไปร่วมงานแต่งกายแบบพื้นเมือง คือ สวมเสื้อหม้อห้อม ต่อมาได้กลายเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับงานเลี้ยงขันโตกไปด้วย

2) วิธีปฏิบัติ
2.1) การจัดเตรียมสถานที่
การจัดสถานที่ในประเพณีการเลี้ยงขันโตก มีดังนี้
- เตรียมลานกว้างให้เพียงพอกับจำนวนแขก ใช้สำหรับเป็นที่นั่งรับประทานอาหาร และแสดงมหรสพ
- ขัดราชวัตร หรือรั้วพิธี ทำคล้าย ๆ รั้วพิธีตามวัดเวลามีงานสมโภชหรืองานเทศกาล
- ปักต้นไม้ เช่น ต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นกุ๊ก (พืชตระกูลข่า) ไว้รอบราชวัติหรือรั้วพิธี
- ด้ายสายสิญจน์ ใช้วงรอบราชวัติ ในกรณีที่การเลี้ยงขันโตกนั้นมีพิธีบายศรีสู่ขวัญด้วย
- ทำประทีปโคมไฟ โดยใช้เทียนขี้ผึ้ง หรือเทียนไขปักรอบ ๆ ราชวัตร
- ตั้งคนโท (น้ำต้น) กระโถน พานมูลีขี้โย (บุหรี่) และเมี่ยง
- วงดนตรีพื้นเมืองประกอบด้วยสะล้อ ซึง ขลุ่ย และกลอง สำหรับบรรเลงในระหว่างการเลี้ยงขันโตก
- มาลัยดอกมะลิ หรือดอกรัก หรือดอกบานไม่รู้โรย สำหรับเจ้าภาพใช้คล้องคอให้แขกที่มาถึงบริเวณพิธี
2.2) การจัดเตรียมอาหาร
อาหารสำหรับขันโตก ประกอบไปด้วยข้าวนึ่งหรือข้าวเหนียว แกงอ่อม แกงฮินเล ใส้อั่ว แคบหมู น้ำพริกอ่อง หรือน้ำพริกปลาร้า จิ๊นลาบ และผักต่างๆ นอกจากนี้ยังมีของขวานจัดแซมไปกับอาหารในขันโตกด้วย เช่น ขนมจอก ขนมเทียน ขนมปาด ขนมศิลาอ่อน ข้าวพอง หรือข้าวแตน เป็นต้น อาหารเหล่านี้จะตักใส่ถ้วยเล็ก ๆ วางไว้ในขันโตกจนครบ ใช้ฝาชีครอบไว้ รอจนกว่าพิธีแห่ขันโตจะเสร็จ
2.3) การละเล่น หรือมหรสพ
ในประเพณีการกินขันโตกอาจมีการละเล่นหรือมหรสพต่าง ๆ มีดังนี้
- ฟ้อนเล็บ หรือฟ้อนเทียน เป็นศิลปะที่สูงค่าของชาวล้านนาไทย นางรำจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแบบล้านนาไทย มุ่นผม ทัดดอกไม้ หรือห้อยมาลัย
- การฟ้อนสาวไหม เป็นการร่ายรำโดยนำเอาวิธีการทำด้าย ทำไหมของหญิงสาวล้านนาไทยมาประกอบการร่ายรำเป็นจังหวะให้เข้ากับดนตรี
- การฟ้อนดาบ เป็นศิลปะโบราณของล้านนาไทย ฟ้อนได้ทั้งชายและหญิง บางแห่งมีการรำในลักษณะต่อสู้กัน
- การฟ้อนเจิง เป็นการร่ายรำของผู้ชายแสดงลวดลายต่าง ๆ
- กลองแอว หรือกลองตึ่งโนง เป็นเครื่องดนตรีประโคมกับการแห่ การฟ้อน
- แน หรือแตร มี 2 เลา ใช้เป่าตามเพลงแห่นำขบวนเวลาฟ้อน
- กลองอุเจ่ กลองมอนเซิง หรือกลองทิ้งป้อม เป็นเครื่องแห่ขนาดเล็ก ใช้เป็นเครื่องดนตรีประกอบการรำดาบ และฟ้อนเจิง
2.4) การแห่ขบวนขันโตก
แขกที่ได้รับเชิญจะเข้าสู่บริเวณพิธี เจ้าภาพจะนำพวงมาลัยที่จัดเตรียมไว้คล้องคอให้แก่แขกทุกคน จากนั้นเชิญให้เข้ามานั่งในบริเวณที่เลี้ยงขันโตกในราชวัตรคอยชมขบวนแห่ขันโตก การจัดขบวนแห่ขันโตก จะประกอบไปด้วยพานบายศรี (ถ้ามี) ช่างฟ้อน กลุ่มดนตรีกล่องตึ่งโหน่ง (บางทีก็ให้อยู่นอกขบวน) ขันโตกเอก ขันโตโทหรือขันโตกรอง กล่องข้าวใหญ่ ขันโตกบริวาร กล่องข้าวเล็ก อาหารหวาน เมื่อดนตรีขึ้นช่างฟ้อนก็จะฟ้อนนวยนาดเป็นคู่ ๆ นำขบวนขันโตก จากนั้นขันโตกเอก ขันโตโทหรือขันโตกรอง กล่องข้าวใหญ่ ก็ถูกหามเดินตามไปพร้อมกับขันโตกเล็ก ๆ ตามไปเป็นแถวอย่างช้า ๆ รั้งท้ายด้วยกลองมองเซิงเข้าสู่บริเวณพิธี แขกผู้มาร่วมงานจะปรบมือให้เป็นระยะจนกว่าขันโตกเอกจะถึงแขกผู้เป็นประธานนั่ง จึงหยุดการฟ้อน จากนั้นก็จะนำขันโตกไปวางตามจุดที่ตั้งคนโท และกระโถนไว้ เจ้าภาพเชิญแขกรับประทานอาหาร ในระหว่างที่แขกกำลังรับประทานอาหาร จะมีการจุดดอกไม้เพลิง และตะไล มีชุดการแสดงต่าง ๆ ให้แขกได้ดูชม เช่น ฟ้อนน้อยใจยา-นางแว่นแก้ว ฟ้อนดาบฟ้อนสาวไหม ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง เป็นต้น
สำหรับวิธีการนั่งในการเลี้ยงขันโตกนั้น ผู้ชายจะนั่งขัดสมาธิ ภาคเหนือเรียกว่าขดตะหวายส่วนผู้หญิงจะนั่งพับเพียบ ภาคเหนือเรียกว่า นั่งป้อละแหม้ ประเพณีการกินขันโตก เป็นประเพณีการเชิญแขกมารับประทานอาหารแบบพื้นเมืองล้านนาไทย โดยนำเอาประเพณี การละเล่นต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนสมัยอาณาจักรล้านนาไทย มาประยุกต์เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ของเก่าซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงาม ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการศึกษาค้นคว้าวัฒนธรรมประเพณีล้านนาไทยอย่างกว้างขวางต่อไป




อ้างอิง : หนังสือเรียนสาระการพัฒนาสังคม รายวิชาเลือก การอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีในภาคต่างๆ (สค 12009) ระดับประถมศึกษา หน้า 12 - 14

เขียนโดย :
1. นางสาวแอน แท่นทอง รหัสนักศึกษา 115410507327-8
2. นางสาวภัทลียา เกื้อกูล รหัสนักศึกษา 115410507331-0
ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น